กรมปศุสัตว์เร่งยกระดับฟาร์มหมูรายย่อยกว่า 500 ฟาร์ม พร้อมส่งเสริมระบบการเลี้ยงแบบ GAP เพื่อป้องกันโรคเพิร์สไม่ให้เกิดปัญหาในการส่งออก ขณะที่การระบาดโรคโควิด-19 รอบ 3 ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงหมูไม่ถึง 5% และอยู่ในระยะเวลาช่วงสั้น ๆ เท่านั้น
นายสมศักดิ์ จิตตวิสุทธิ์วงศ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงเปิดเผยว่า จังหวัดพัทลุงถือว่าเป็นจังหวัดที่เลี้ยงหมูมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ และติดอันดับ 4 ของประเทศ โดยมีฟาร์มมาตรฐานการผลิตสินค้าทางการเกษตร (GAP) ด้านการผลิตปศุสัตว์มากถึง 207 ฟาร์ม มีสุกรประมาณ 170,000 ตัว ผู้เลี้ยงรายย่อยที่เลี้ยงหมูตั้งแต่ 1-500 ตัว มีอยู่ประมาณ 5,000 ราย และมีสุกรที่มีฟาร์มขนาดใหญ่เลี้ยงมากกว่า 200,000 ตัวอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงรายย่อยมีฟาร์มที่มีระบบป้องกันและการเลี้ยงที่เหมาะสม หรือ GFM จำนวน 630 ราย และกำลังรอการอนุมัติ GFM อีกกว่า 50 ราย ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงกำลังยกระบบการเลี้ยงสุกรของผู้เลี้ยงรายย่อยอื่น ๆ ที่เหลืออย่างเร่งด่วน
“ในช่วงเกิดโรคเพิร์ส ฟาร์มเลี้ยงหมูที่มีมาตรฐานการผลิตสินค้า GAP จากกรมปศุสัตว์ และฟาร์มที่มีระบบป้องกันการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม GFM ไม่พบกับปัญหาเรื่องโรคเลย ทั้งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส หรือโรคเพิร์สได้เป็นที่น่าพอใจมาก”
นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคเพิร์สในหลายจังหวัดของภาคใต้คลี่คลายลงแล้ว เพราะกรมปศุสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัด ร่วมกับเกษตรกรมีมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น รวมถึงการระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ก็ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสุกรไม่ถึง 5% เพราะโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ที่ปิดตัวไปเริ่มกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต่างปรับตัวและลงทุนใหม่เป็นจำนวนมาก
“เรื่องโรคระบาดในสุกรมีมานานร่วม 3 ปีแล้ว ผู้เลี้ยงสุกรจึงมีประสบการณ์ในการรับมือพอสมควร มีการตื่นตัวเฝ้าระวังป้องกันตนเองสูงมากมาอย่างต่อเนื่องทั้งการยกระดับการเลี้ยง ยกระดับฟาร์มและอื่น ๆ อีกมากมายไม่ต่างกันกับการป้องกันโรคระบาดของโควิด-19 รูปแบบการเลี้ยงต้องเป็นมาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ต้องมีการตรวจสอบโรคของสุกรที่อยู่ในคอกหากต้องล็อกดาวน์ หรือควบคุมในช่วงที่ไม่สามารถขายสู่ตลาดได้ โรคเพิร์สจึงไม่ลุกลามหรือขยายเป็นวงกว้างออกไป”
นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 สัปดาห์ อีกทั้งสุกรเป็นอาหารที่จำเป็นต่อการบริโภค โดยภาพรวมทั้งผู้เลี้ยง แรงงาน และรายได้ ตลอดจนอาชีพในวงการเลี้ยงสุกรจึงได้รับผลกระทบน้อยพอสมควร
นายปรีชากล่าวว่า ตอนนี้ผู้เลี้ยงสุกรในจังหวัดพัทลุงต่างยกระดับฟาร์มของตัวเอง ยกระดับการเลี้ยงขนานใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกรคนหนุ่มสาวมีการปรับตัวที่สูงมาก ยอมปรับไปตามข้อมูลทางวิชาการ หันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และที่สำคัญคือให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี อีกทั้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดคนใหม่ก็แนะแนวทางพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสุกร ตลอดจนให้ความรู้เป็นอย่างดีส่งผลให้เกิดความมั่นใจกับผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดพัทลุงมา
นอกจากนี้ นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร ประธานกรรมการสหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย (พัทลุง) จำกัดกล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย จ.พัทลุง ก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 900 ราย และสมาชิกเครือข่ายสหกรณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ก็ยังเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องกว่า 2,000 ราย
“อย่างไรก็ตาม หลังการระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ก็ส่งผลกระทบต่อสหกรณ์โคเนื้อและเกษตรกรทั้งในและต่างจังหวัดมาก โคเนื้อ โคขุนไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศจากที่เคยส่งไปขายยังมาเลเซียตลอด และยังส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าของสหกรณ์ทั้งในและต่างจังหวัดไม่ได้อีก ทำให้ยอดขายลดลงมากจากประมาณ 1 ล้านบาท/เดือน เหลือไม่เกิน 2 แสนบาท/เดือน ทำให้ขณะนี้สถานการณ์ของสหกรณ์อยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วง"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 10-05-2021
|