อโกรเมด
agromed.co.th
อโกรเมดยาสัตว์
ขายยาสัตว์ ผลิตยาสัตว์ อาหารสัตว์
agromed
ขายยาสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์ รูปภาพ ข่าวสารสัตว์ บทความเกี่ยวกับสัตว์ บริษัทอโกรเมด อโกรเมด
agromed
สินค้ายาสัตว์ขายดี
คลีนฟาร์ม
อโกรมิกซ์ พรีสตาร์ทเตอร์ / สตาร์ทเตอร์
โปรไซม์ เอ็กซ์พี
ไซคลอซอล 200 แอล เอ
ท็อกซี่-นิล พลัส ดราย
ยาสัตว์ขายดี
ยาสัตว์
ข่าวยาสัตว์
ดันมาตรฐานฟาร์มหมูคุมอหิวาต์ ทำต้นทุนพุ่ง

          ผู้เลี้ยงหมู-นักวิชาการ-สภาเกษตรแห่งชาติ ผนึกกำลังยกระดับฟาร์มหมูฝ่าวิกฤตโรคระบาด ทำหนังสือถึง “จุรินทร์” รองนายกฯ สนับสนุนการจัดทำ GAP มาตรฐานฟาร์มหมูภาคบังคับใช้กับฟาร์มขนาดกลาง-ใหญ่ เลี้ยงหมูต้องมีใบอนุญาต-ใบรับรองเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร ทำต้นทุนเลี้ยงหมูพุ่ง กก.ละ 2 บาท ด้านสภาเกษตรฯเตรียมเสนอรัฐประกันภัยหมู

          ท่ามกลางการระบาดของโรคสุกรที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (มกษ.6403) ปรากฏทางคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 กำหนดให้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรฉบับทบทวน (Good Agricultural Practices : GAP) เป็น “มาตรฐานบังคับ” ส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมูรายกลาง-ใหญ่จำนวน 4,768 ฟาร์ม หรือคิดเป็นร้อยละ 61.9 ของจำนวนฟาร์มหมูทั้งประเทศ (7,314 ฟาร์ม)

          หากฟาร์มหมูที่ได้รับรอง GAP อยู่ก่อนแล้วก็จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่อีก 2,783 ฟาร์มที่ยังไม่ได้รับการรับรอง GAP เมื่อมาตรฐานใหม่มีผลบังคับใช้จะเกิดปัญหาตามมาได้ เนื่องจากมีผลบังคับตามกฎหมาย พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 20 ต้องขอ “ใบอนุญาต” เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ โดยเมื่อมีการประกาศบังคับใช้มาตรฐานในราชกิจจานุเบกษา และประกาศจาก มกอช. สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ที่ มกอช. หรือหน่วยงานรัฐที่ มกอช.มอบหมายหรือผ่านทางระบบออนไลน์ เมื่อบังคับใช้หากฝ่าฝืนไม่มีใบอนุญาตต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท

          ส่วนมาตรา 27 ต้องขอรับการตรวจสอบเพื่อขอ “ใบรับรอง” ตามมาตรฐานบังคับสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งสามารถยื่นขอรับรอง GAP ได้ฟรีกับกรมปศุสัตว์ทันทีโดยไม่ต้องรอประกาศมาตรฐานฉบับใหม่ เมื่อมีการบังคับใช้หากฝ่าฝืนยังไม่ได้รับรอง GAP ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท

GAP ภาคบังคับฟาร์มหมู

          นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรฐานดังกล่าวจะมีขอบข่ายการบังคับใช้แบ่งเป็น 2 ระยะตามขนาดการเลี้ยงหมูคือ 1) หมูขุนตั้งแต่ 1,500 ตัวขึ้นไปหรือสุกรแม่พันธุ์ตั้งแต่ 120 ตัวขึ้นไป ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 90 วันหลังประกาศราชกิจจาฯ กับ 2) หมูขุนตั้งแต่ 500-1,499 ตัวหรือสุกรแม่พันธุ์ตั้งแต่ 95-119 ตัว ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 180 วัน ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงหมูต่ำกว่านั้นลงมายังไม่บังคับ แต่เกษตรกรเองก็สามารถยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงให้เข้าสู่ GAP และ GMP ได้

          แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องทั้งกับเกษตรกรฟาร์มหมูและประชาชนทั่วไป ดังนั้น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 18 ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 โดยมีระยะเวลารับฟังความคิดเห็น 60 วันนับจากวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

          ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (มกษ.6403) ที่ผ่านมาเป็นเพียงมาตรฐานทั่วไป แต่เนื่องจากการเลี้ยงหมูมีจำนวนผู้เลี้ยงมากกว่า 160,000 รายทั่วทุกภูมิภาค จึงต้องระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะกรรมการวิชาการ (กว.) พิจารณา และได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้ยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรฉบับทบทวน (Good Agricultural Practices : GAP) เป็น “มาตรฐานบังคับ” เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์ม สร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่สำคัญในหมูได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          “เราบังคับหมูขุน 1,500 ตัวหรือแม่หมู 120 ตัวขึ้นไป กับหมูขุน 500-1,499 ตัวหรือแม่หมู 95-119 ตัว ส่วนเกษตรกรรายย่อย-ฟาร์มขนาดเล็กให้ถือเป็นมาตรฐานสมัครใจ ไม่บังคับ การเปิดรับฟังความคิดเห็นจะผ่านเว็บไซต์ มกอช. และเพื่อรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดส่งต่อไปพิจารณาเป็นร่างกฎกระทรวงเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)” นายพิศาลกล่าว

GAP ทำต้นทุนพุ่ง 2 บาท/กก.

          ด้านแหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงสุกร กล่าวถึงความกังวลที่ประเทศไทยอาจจะเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) รวมถึงโรคต่าง ๆ ในสุกร ทำให้ภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ประชุมผ่าน Zoom หาทางออกในเรื่องนี้ โดยที่ประชุมมีความเห็นเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้เลี้ยงรายย่อยที่ประสบปัญหาโรคระบาดในหมู ควรจะเร่งหางบประมาณเข้ามาจ่ายชดเชย 75% ให้เกษตรกรรายย่อย ส่วนการที่จะให้เดินหน้าเลี้ยงหมูต่อไปจะต้องออกมาตรฐานฟาร์มภาคบังคับ หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรฉบับทบทวน (Good Agricultural Practices : GAP)

          นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 (ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์) และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ร่วมทำงานกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาความเสี่ยงจากโรคระบาดต่าง ๆ ในสุกร และได้ข้อสรุปจะทำหนังสือส่งถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะเสนอของบประมาณมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงิน “ชดเชย” ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับความเสียหายจากโรคระบาดที่ผ่านมาเสนอขอไป 800 ล้านบาท แต่ได้มาเพียง 93 ล้านบาทเท่านั้น พร้อมกันนี้จะมีการนำเสนอมาตรการต่าง ๆ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

          โดยแผนระยะสั้นให้หน่วยราชการนำมาตรฐาน GAP ในการเลี้ยงสุกรที่มีอยู่แล้วในลักษณะ “สมัครใจ” มาปัดฝุ่นเป็น “มาตรฐานบังคับ” ใช้กับผู้เลี้ยงรายย่อย-รายกลางที่มีแม่หมูตั้งแต่ 95 ตัวขึ้นไป และมีการเลี้ยงสุกรขุนตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป ส่วนแผนระยะกลางอาจจะต้องมีการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับสุกรให้ทันสมัยสอดคล้องกับโรคระบาดใหม่ ๆ ที่จะต้องเข้มข้นขึ้น ในขณะที่แผนระยะยาวจะเข้ามาดูเรื่องของการตลาด

          “ที่เราจัดทำข้อเสนอขึ้นมาก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาด ทั้งโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) โรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจสุกร (PRRS) และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงหมูต่ำกว่าที่กำหนด ซึ่งถือเป็นรายเล็กก็จะต้องค่อย ๆ ปรับตัวให้เลี้ยงหมูอย่างถูกวิธีต่อไป” นายพิพัฒน์กล่าว

          นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ส่งเรื่องขอรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร เป็นมาตรฐานบังคับมายังสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคอีสานแล้ว และทางสมาคมจะรวบรวมความเห็นสมาชิกตอบกลับไปภายในวันที่ 27 กันยายน 2564

          “ผู้เลี้ยงหมูในภาคอีสานมีประมาณ 100,000 กว่าราย มีแม่หมูประมาณ 60,000 แม่ มีหมูขุนประมาณ 7-8 ล้านตัว ในจำนวนผู้เลี้ยง 100,000 ราย คิดเป็นเกษตรกรรายย่อย 20% รายกลางประมาณ 60-70% และครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกรที่ยังมีการเลี้ยงหมูไม่ได้มาตรฐาน หากจะเริ่มต้นดำเนินการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน GAP จะส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้นประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 67-68 บาทแล้ว ราคาช่วงนี้ไม่ดีอยู่ที่ 60 กว่าบาท/กก.” นายสิทธิพันธ์กล่าว

          ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 สภาเกษตรกรแห่งชาติจะประชุมคณะทำงานแก้ปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคในสุกรครั้งที่ 4/2564 ที่ประชุมจะมีการพิจารณาเรื่องแนวทางการจัดทำ “ประกันภัยสุกร” ขึ้นมาพิจารณาด้วย เนื่องจากปัจจุบันเงินชดเชย 75% ที่ภาครัฐจ่ายให้ไม่เพียงพอกับความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงหมู

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 29-08-2021

 
 
บริษัท อโกรเมด จำกัด 283 - 285 ถ. เพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพฯ 10160 โทร. (02) 809-7254-9 โทรสาร. (02) 809-7260
AGROMED CO., LTD. 283 – 285 PETCHKASEM ROAD , NONGKANGPLU , NONGKEAM , BANGKOK 10160 E-mail : support@agromed.co.th
Copy All Right Reserved 2012 By. agromed.co.th
Creator By cw.in.th