นครพนมพบโรคระบาดในหมู ล้มตายยกเล้านับร้อยตัว ปศุสัตว์เร่งตรวจหาเชื้อพร้อมเยียวยา เกษตรกรน้ำตาตกยืนดูหมูป่วยตายต่อหน้า
ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องทุกข์จาก นายเตียง คำเกลี้ยง ผู้ใหญ่บ้านนาโพธิ์หมู่ที่ 5 ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม ว่าลูกบ้านที่มีอาชีพเลี้ยงหมูประสบการแพร่ระบาดของโรคเพิร์ส หรือพีอาร์อาร์เอส (PRRS) เป็นเหตุให้หมูล้มป่วยและตายเป็นจำนวนมาก จึงเดินทางไปยังบ้านของนางไวดี อุประ อายุ 60 ปี เป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูมากว่า 20 ปี พบว่าหมูที่เลี้ยงไว้ 30 ตัว ซึ่งมีทั้งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และหมูขุน ล้มตายจากโรคเพิร์สไปแล้ว 13 ตัว มูลค่าความเสียหายประเมินเบื้องต้นราว 200,000 บาท
โดยนางไวดี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า หมูเริ่มมีอาการประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นก็ทยอยตายไปวันละตัวสองตัว เพิ่งมีวันนี้ที่หมูล้มตายคาคอกเกือบ 10 ตัว จึงแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบเรื่องดังกล่าว โดยนายเตียงได้ประสานรถแบคโฮมาขุดดินบริเวณที่นาเพื่อฝังกลบหมูที่มีอาการร่อแร่ คาดว่าไม่เกินวันสองวันนี้น่าจะตายหมดยกเล้า
ขณะเดียวกัน ทางด้านเล้าหมูของนางขวัญดาว ดวงสิม อายุ 41 ปี บ้านเลขที่ 18 หมู่ 17 บ้านนาโพธิ์ ต.บ้านผึ้ง เกษตรกรที่เลี้ยงหมูกว่า 100 ตัว ก็ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเพิร์สจนมีหมูตายไปแล้วกว่า 20 ตัว และได้ประสานไปยังปศุสัตว์อำเภอเมืองนครพนม เข้ามาตรวจสอบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ทั้งนี้ มีหมูที่อาการหนักไม่ยอมกินอาหารอีกหลายสิบตัว หากไม่สามารถยับยั้งโรคดังกล่าวได้ คงต้องตายยกเล้าแน่นอน
นายสมชาย อนันตจารุตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม เปิดเผยทางโทรศัพท์ว่าโรคเพิร์ส หรือพีอาร์อาร์เอส (PRRS) เพิ่งมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ได้ไม่นาน ซึ่งคาดว่าการติดเชื้อโรคระบาดดังกล่าว น่าจะมาจากหลายช่องทาง เช่น จากบุคคลในตำบลไปสัมผัสมาจากพ่อค้าเร่รับซื้อหมู ที่เข้ามาซื้อหมูภายในหมู่บ้าน ซึ่งในขณะนั้นหมูในพื้นที่ขาดตลาด จึงมีการไปนำหมูมาจากต่างจังหวัด ทั้งภาคกลางและส่วนหนึ่งมาจากอีสานตอนใต้
ส่วนการเยียวยาสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม จะภายใต้การประเมินราคาของคณะกรรมการฯ ว่า กรณีที่หมูล้มตายนี้มาจากโรคอะไร หากเข้าข่ายโรคดังกล่าว ก็จ่ายช่วยเหลือชดเชยเกษตรกร 75% จากราคาประเมิน ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ ต.นาราชควาย อ.เมืองนครพนม มีเกษตรกรเลี้ยงหมู 5 ราย รัฐได้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 363,956.50 บาท จากจำนวนหมูล้มตาย 94 ตัว พร้อมขอเตือนให้ผู้เลี้ยงหมูทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรคดังกล่าวด้วย หากพบหมูมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอหรือจังหวัดทันที
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 13-09-2021
|